โรคหอบหืด งาขี้ม่อนมีส่วนประกอบของกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด กรดแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha Linolenic Acid) ที่คาดว่าอาจมีคุณสมบัติยับยั้งสารลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย และอาจส่งผลดีต่อการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม การศึกษาชิ้นหนึ่งพิสูจน์คุณประโยชน์ด้านนี้ของงาขี้ม่อนโดยทดลองให้ผู้ป่วยโรคหอบหืด รับประทานน้ำมันงาขี้ม่อน เพื่อเปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันงาขี้ม่อนมีปริมาณสารลิวโคไตรอีนในร่างกายลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ และอาการของโรคดีขึ้นหลังผ่านไป 4 สัปดาห์ ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งไม่ได้รับน้ำมันงาขี้ม่อนกลับมีสารชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากผ่านไป 1 เดือน จึงพอจะบอกได้ว่าการรับประทานน้ำมันงาขี้ม่อนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยช่วยยับยั้งการเกิดสารลิวโคไตรอีนจากกระบวนการอักเสบ และยังบรรเทาอาการของโรคให้ลดลงได้
โรคภูมิแพ้อากาศ กรดโรสมารินิค (Rosmarinic Acid) เป็นสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบอีกชนิดที่พบในงาขี้ม่อน โดยเข้าไปยับยั้งการหลั่งสารลิวโคไตรอีนขณะร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา จากงานวิจัยในสัตว์ชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าสารสกัดจากงาขี้ม่อนช่วยลดการอักเสบได้ จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกรดโรสมารินิคที่สกัดจากธัญพืชชนิดนี้ในคนเพิ่มเติม โดยทดลองให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศรับประทานกรดโรสมารินิคในรูปแบบอาหารเสริมหรือยาหลอกเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 21 วัน จากนั้นบันทึกความเปลี่ยนแปลงของอาการที่พบทุกวัน ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่ากลุ่มที่รับประทานกรดโรสมารินิคมีอาการโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น อาการคัดจมูก คันตา น้ำตาไหล เป็นต้น ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงหลังจากรับประทาน นักวิจัยจึงคาดว่าสารสกัดจากงาขี้ม่อนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศชนิดไม่รุนแรงหรือโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น หากใช้เสริมจากวิธีการรักษาทางการแพทย์แบบปกติ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
แผลร้อนใน โรคแผลร้อนในเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่การศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคนี้ยังมีอยู่จำกัด ผลจากการค้นคว้าบางงานพบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจเป็นอีกตัวเลือกของการป้องโรคแผลร้อนในได้ งาขี้ม่อนซึ่งเป็นธัญพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างกรดแอลฟาไลโนเลนิกในปริมาณสูง จึงถูกเลือกมาใช้ในการทดลองหลายชิ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งให้อาสาสมัครชายหญิงที่เคยมีประวัติเป็นแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ใช้น้ำมันงาขี้ม่อนหรือน้ำมันถั่วเหลืองในการทำอาหารเป็นระยะเวลา 8 เดือน ผลพบว่าอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มมีอัตราการเกิดแผลร้อนในซ้ำลดลงและแผลหายเร็วขึ้น รวมทั้งผลจากการเจาะเลือดตรวจดูระดับกรดไขมัน พบว่ามีระดับกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรับประทานงาขี้ม่อนหรือผลิตภัณฑ์จากงาขี้ม่อนที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลร้อนในให้น้อยลง การป้องกันควรทำควบคู่กับดูแลสุขอนามัยช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น อาหารทอด อาหารรสจัด ผลไม้ที่มีกรดสูง เป็นต้น
ความปลอดภัยในการรับประทานงาขี้ม่อน ปัจจุบัน มีหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของงาขี้ม่อนต่อการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ อยู่จำกัดและระบุความปลอดภัยไม่ได้แน่ชัด การศึกษาเท่าที่มีพบว่าการรับประทานงาขี้ม่อนนานติดต่อกัน 8 เดือนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ ส่วนการรับประทานงาขี้ม่อนในปริมาณปกติที่พบจากอาหารนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานงาขี้ม่อน เพราะไม่พบข้อมูลยืนยันความปลอดภัยและผลข้างเคียงจากการใช้ จึงมีความเสี่ยงที่สารอาหารบางส่วนอาจส่งผ่านจากแม่ไปยังทารกในครรภ์หรือไหลผ่านน้ำนมได้ นอกจากนี้ การใช้งาขี้ม่อนหรือผลิตภัณฑ์จากงาขี้ม่อนกับผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือผื่นขึ้นในบางราย หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังการรับประทานหรือใช้งาขี้ม่อน ควรหยุดใช้ทันทีและไปพบแพทย์